วันว่างๆของอุ๋ย

วันพุธที่ 26 มกราคม พ.ศ. 2554

บทความเกี่ยวกับภาษาไทย

๑.  บทความ..ปัญหาการใช้ภาษาไทยของครูและนักเรียน


เขียนโดย ภาษาสยาม   
วันพุธที่ 27 พฤษภาคม 2009 เวลา 13:27 น.
บทความ

เรื่อง  ปัญหาการใช้ภาษาไทยของครูและนักเรียน

                           โดย  นางสาวน้ำฝน  ทะกลกิจ


        ในวิถีแห่งเทคโนโลยีและการสื่อสารไร้พรมแดน ท่ามกลางสังคมที่มีค่านิยมยอมรับนับถือวัตถุมากกว่าคุณค่าของจิตใจนั้น หลายๆสิ่งกำลังเจริญก้าวหน้าไปอย่างไม่มีขีดจำกัด ในขณะที่ยังมีอีกสิ่งหนึ่งที่กำลังดำดิ่งลงสู่ห้วงเหวแห่งหายนะอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ ซึ่งก็คือ ความเป็นไทยและภาษาไทย ภาษาชาติของเรานั่นเอง ที่กำลังถูกค่านิยมของคนรุ่นใหม่รุกรานจนแทบไม่หลงเหลือเค้าเดิมอยู่เลย
        ปัญหาการใช้ภาษาไทยนั้นเกิดขึ้นจากจุดเล็กๆจนในขณะนี้ลุกลามไปทุกหย่อมหญ้า แม้แต่ในสถานศึกษาอันเป็นแหล่งหล่อหลอมความรู้ก็มิได้ละเว้น ภาษาไทยกลายเป็นวิชาที่น่าเบื่อของผู้เรียน และสุดท้ายผู้เรียนจึงได้รับความรู้แบบงูๆปลาๆที่จะนำไปใช้ต่อไปอย่างผิดๆ หากเราจะแยกปมปัญหาการใช้ภาษาไทยในโรงเรียนนั้น สามารถแยกเป็นประเด็นใหญ่ๆ ได้       ๒ ประเด็น คือ
        ๑.ปัญหาการใช้ภาษาไทยที่เกิดจาก ครู เนื่องจากครู คือ ผู้ประสาทวิชา เป็นผู้ให้ความรู้แก่ศิษย์ ดังนั้นความรู้ในด้านต่างๆ เด็กๆจึงมักจะได้รับมาจากครูเป็นส่วนใหญ่ ในขณะที่ครูบางคนนั้นมีความรู้แต่ไม่แตกฉาน โดยเฉพาะวิชาภาษาไทยเป็นวิชาที่มีความละเอียดอ่อน และมีส่วนประกอบแยกย่อยอย่างละเอียดลออ เมื่อครูไม่เข้าใจภาษาไทยอย่างกระจ่าง จึงทำให้นักเรียนไม่เข้าใจตามไปด้วย จนในที่สุดพาลเกลียดภาษาไทยไปในที่สุด ซึ่งเป็นปัญหาที่ปรากฏให้เห็นอยู่มากมายในปัจจุบัน

ความเป็นครูนั้น แน่นอนการสอนย่อมสำคัญที่สุด ครูบางคนมีความรู้อยู่ในหัวเต็มไปหมดแต่กลับสอนไม่เป็น ซึ่งครูส่วนใหญ่มิได้ยอมรับปัญหานี้ บางคนสักแต่ว่าสอน แต่ไม่เข้าใจเด็กว่าทำอย่างไร อธิบายอย่างไร เด็กซึ่งเปรียบเสมือนผ้าข้าวนั้นจะซึมซับเอาความรู้จากท่านไปได้มากที่สุด การทำความเข้าใจเด็กจึงเป็นส่วนประกอบหลักที่สำคัญไม่แพ้ภูมิความรู้ที่มีอยู่ในตัวครูเลย   ครูจึงควรหันกลับมายอมรับความจริง และพยายามปรับปรุงแก้ไขตนเองให้เหมาะสมกับที่เป็นผู้รู้ที่คนทั่วไปยอมรับนับถือ

         ๒. ปัญหาการใช้ภาษาไทยที่เกิดจากนักเรียน ในสังคมยุคไซเบอร์ ซึ่งสามารถเข้าไปใช้บริการแลกเปลี่ยนเรียนรู้ได้ทุกภาคส่วน เด็กซึ่งเป็นวัยที่อยากรู้อยากลองจึงมิได้ให้ความสนใจเพียงแค่การศึกษาค้นคว้าข้อมูลการศึกษาเท่านั้น หากแต่สนใจกับภาคบันเทิงควบคู่ไปด้วย และโดยแท้จริงแล้ว มักจะให้ความสำคัญกับประเด็นหลังมากกว่าการค้นคว้าความรู้เสียด้วยซ้ำ ดังนั้นจึงสามารถกล่าวได้ว่าการใช้อินเทอร์เน็ตของเด็กนั้นเป็นปมปัญหาสำคัญยิ่งที่ไม่ควรมองข้าม
          ปัญหาการใช้ภาษาไทยที่เกิดจากอินเทอร์เน็ตนั้นเริ่มลุกลามมาจากโปรแกรมแช็ทรูมและเกมออนไลน์ ซึ่งดูคล้ายเป็นการสนทนากันธรรมดา แต่เมื่อได้เข้าไปสัมผัสแล้ว มิใช่เลย การสนทนาอันไม่มีขีดจำกัดของภาษาทำให้เกิดปัญหาขึ้นมากมาย ดังเช่นที่พบตามหน้าหนังสือพิมพ์ในปัจจุบัน และในขณะเดียวกันก็สร้างปัญหาให้แก่วงการภาษาไทยด้วย นั่นคือการกร่อนคำ
 
และการสร้างคำใหม่ให้มีความหมายแปลกไปจากเดิม หรืออย่างที่เรียกว่าภาษาเด็กแนวนั่นเอง ดังจะขอยกตัวอย่าง ดังนี้

          สวัสดี เป็น ดีครับ ดีค่ะ
          ใช่ไหม เป็น ชิมิ
          โทรศัพท์ เป็น ทอสับ
          กิน เป็น กิง

          จะเห็นได้ว่าคำเหล่านี้ถูกคิดขึ้นและใช้กันอย่างแพร่หลาย โดยเหตุผล ๒ ประการ  คือ  เพื่อให้ดูเป็นคำที่น่ารัก และพิมพ์ง่ายขึ้น โดยที่ผู้ใช้ไม่คำนึงถึงว่า นั่น คือการทำลายภาษาไทยโดยทางอ้อม เพราะหลายๆคนนำคำเหล่านี้มาใช้ในชีวิตประจำวันเสียด้วยซ้ำ ดังจะเห็นได้ว่า เด็กบางคนนำภาษาเหล่านี้มาใช้ในโรงเรียนจนแพร่หลาย นั่นคือความมักง่ายที่นำพาความหายนะมาสู่วงการภาษาไทยที่ไม่ควรมองข้าม
         ปัญหาการใช้ภาษาไทยเป็นปัญหาที่ลุกลามใหญ่โตกลายเป็นไฟลามทุ่งอยู่ทุกวันนี้ หากไม่ได้รับการแก้ไขโดยเร็ว ภาษาไทยอันถือเป็นเอกลักษณ์ของความเป็นชาติไทยนี้อาจจะบอบช้ำเสียจนเกินเยียวยา การปลูกฝังจิตสำนึกและความตระหนักแก่ทุกคนในชาติจึงเป็นสิ่งที่สำคัญที่สุด เพราะทุกสิ่งที่มนุษย์ยึดถือปฏิบัติล้วนมาจากจิตสำนึกทั้งสิ้น เมื่อกระทำได้ดังนี้แล้ว ไม่ว่าวิถีชีวิตแบบไหน หรือค่านิยมสมัยใหม่ประเภทใดก็ไม่สามารถทำลายภาษาไทยของเราได้อย่างแน่นอน



                             ๒.  การอ่านอย่างมีมิติ

ผศ.ศิวกานท์ ปทุมสูติ


        ภาษามิได้มีเพียงความหมายของถ้อยคำเท่านั้น  เมื่อภาษาถูกส่งออกจากผู้ส่งสาร  มันจึงมิได้มีเพียงเรื่องราวที่เป็นความหมายของถ้อยคำ  แต่ในเรื่องราวและความหมายที่ส่งออกมานั้นจะประกอบไปด้วยความคิด  ความรู้สึก  อารมณ์  ทัศนคติ  เจตนา  ท่าทีของความคิดความรู้สึกหรือน้ำเสียง  ความหมายตรง  ความหมายแฝง  วัฒนธรรม  พื้นภูมิประสบการณ์  ภูมิปัญญา  ปรัชญา อุดมการณ์  มโนคติ  อุดมคติ  ท่วงทำนอง  วิถี  ลีลา  รูปแบบ  บุคลิกภาพ  อัตลักษณ์  เบื้องหน้าเบื้องหลัง  บริบทชีวิต  สังคม  การศึกษา  ความจริงใจ  เล่ห์เหลี่ยม  ชั้นเชิง  ความดี  ความงาม ความชั่วร้าย  ความกล้า  ความเชื่อมั่น  ความหวั่นไหว  ความหวาดระแวง  ความคาดหวัง  ฯลฯ
                ไม่ว่าภาษาที่ส่งออกมานั้นจะเป็นภาษาพูด  ภาษาเขียน  ภาษาท่าทาง  หรือภาษาสัญลักษณ์ต่างๆ ก็ตาม   ก็อาจมี อะไร” ที่นอกเหนือจากความหมายตามถ้อยคำและเรื่องราวตามตัวหนังสือหรือสื่อแสดงภาษานั้นๆ  ยิ่งมีอะไรที่แฝงมาในสารนั้นมากเท่าไร   ผู้รับสารก็จำเป็นที่จะต้อง อ่าน” อะไรๆ เหล่านั้นให้ครบถ้วน   จึงจะถือว่าเป็นผู้รับสารที่มีคุณภาพ   ยังประโยชน์ต่อการทำความเข้าใจ  การนำไปใช้  หรือกระทำการใดๆ เกี่ยวกับสิ่งที่ได้รับรู้นั้นอย่างมีคุณค่า  
              เราเรียกการอ่านที่สามารถ เข้าถึงสารอย่างถ่องแท้ทุกแง่ทุกมุมหรือทุกนัยแห่งสาร” นั้นว่า การอ่านอย่างมีมิติ  การอ่านเช่นนี้  จะส่งเสริมสติปัญญา  ความคิด  อารมณ์ความรู้สึก  และวุฒิภาวะในการอ่านโลก  อ่านชีวิต  และอ่านสิ่งต่างๆ ให้งอกงามพัฒนา   ส่งผลให้บุคคลผู้มีวิถีการอ่านเช่นที่ว่านี้เป็นผู้แตกฉานต่อชีวิต  มีศักยภาพทางความคิด  สติปัญญา  ความสามารถสร้างสรรค์ การทำงาน  และการใช้ชีวิตอย่างมีคุณภาพยิ่ง  และบุคคลผู้สมควรที่จะต้องเป็น นักอ่าน”  ซึ่งมีวิถีการอ่านอย่างมีมิติที่สมบูรณ์อยู่ตลอดเวลาก็คือ ครูนั่นเอง
                การอ่านไม่ใช่แค่เรื่องของวิชาภาษาไทย  หรือวิชาภาษาใดๆ  แต่มันเป็น เครื่องมือแห่งชีวิต”  ที่ครูทุกคนจะต้องเป็นนักอ่าน   การอ่านมากและอ่านอย่างลุ่มลึกแหลมคม  อย่างทะลุทะลวงมิติต่างๆ ของสาร  เข้าถึงสารอย่างสมบูรณ์ถ่องแท้อยู่เป็นประจำสม่ำเสมอ  จะทำให้ครูได้พบกับสิ่งใหม่ๆ ความคิดใหม่ๆ  วิถีทางใหม่ๆ  ความสนุกในรสแห่งการอ่าน  ความบันเทิงทางจิตวิญญาณและปัญญา  ทำให้สามารถคิดอะไรใหม่ๆ ในการสอนและการพัฒนาคุณภาพทางวิชาการของตน  ข้อสำคัญมันจะทำให้ครูทุกคนได้พบความภาคภูมิใจในตนเอง  เชื่อมั่นในตนเอง  มีความกล้าหาญทางจริยธรรม  และจะได้อะไรดีๆ ในชีวิตของการเป็นครูอีกมาก   ซึ่งสิ่งเหล่านั้นจะเป็นดอกผลแสนงามที่ตกทอดแก่เด็กๆ และเยาวชนของชาติอย่างมิต้องสงสัย
                งานเขียนที่มักมีมิติซับซ้อน  มีอรรถรสชวนอ่าน  มีแก่นสารทางปัญญาและมโนคติ  โดยทั่วไปจะพบได้ในกลุ่มงานเขียนประเภท บันเทิงคดีสร้างสรรค์”   ได้แก่  กวีนิพนธ์  เรื่องสั้น นวนิยาย  หรือที่มักเรียกรวมๆ ว่าวรรณกรรมสร้างสรรค์และปรัชญานิพนธ์ต่างๆ  การอ่านงานประเภทเหล่านี้จะช่วยให้มีความสนุกบันเทิงในการอ่าน   ซึ่งอาจเป็นการสนุกคิด  สนุกติดตาม  สนุกกับความตื่นเต้น  หรือสนุกกับท่วงทำนองต่างๆ ในมิติของงานเขียนที่สร้างสรรค์   แต่การที่ครูจำนวนไม่น้อยยังมิใคร่จะให้ความสำคัญกับการอ่านงานเขียนประเภทนี้  ก็เพราะมักจะคิดว่าไม่มีความสำคัญ  ไม่ได้ให้คำตอบกับโจทย์ชีวิตหรือหน้าที่การงานที่ต้องการโดยตรง   หารู้ไม่ว่าการคิดเช่นนั้น แท้แล้วเป็นการคิดที่ผิวเผินนัก!  
                การมุ่งอ่านเพื่อรู้เรื่องราวที่อยากรู้โดยตรงเช่นการอ่านตำราจะได้อย่างมากก็แค่รู้เรื่องนั้นๆ เท่านั้น   สมองจะสั่งสมแต่ ตัวรู้’…ที่รู้ตาม ตามที่คนอื่น บอกความรู้’ ให้   แต่การอ่านงานเขียนที่มิได้บอกความรู้โดยตรง  จะเป็นการกระตุ้นความงอกงามทางปัญญา  กระบวนการคิด  มโนคติ และวุฒิภาวะทางอารมณ์  ฯลฯ  ทำให้บุคคล พัฒนาสมองแบบเชื่อมโยง’  ด้วยตัวของตัวเอง   และก็จะสนับสนุน ตัวรู้’  ที่รับรู้เรื่องราวต่างๆ ให้มีประสิทธิภาพในการวิเคราะห์และสังเคราะห์อย่างเป็นองค์รวม  
                อยากให้ลองพิจารณาทบทวนว่า  การเรียนการสอนที่ครูโดยทั่วไปปฏิบัติกันอยู่นั้นได้ก้าวพ้นวิธีการแบบ บอกความรู้ แล้วหรือยัง   ถ้ายัง ก็แสดงว่าครูยังมิได้ปฏิบัติตามพระราชบัญญัติการศึกษาแห่งชาติ มาตรา ๒๔  ยังมิได้ก้าวไปสู่ทิศทางการปฏิรูปการศึกษา   ยังพายเรืออยู่ในอ่างที่ไม่สามารถหาทางออก  เหตุที่เป็นเช่นนั้นก็เพราะครูเอง (ส่วนใหญ่ล้วนผ่านการสั่งสมการเรียนรู้แบบรับความรู้จากครูผู้บอกความรู้ เช่นเดียวกันมาเป็นเวลานานแสนนาน  ทั้งระบบ  ทั้งสังคมการศึกษาของเรา   วันนี้เราสามารถพัฒนาความรู้ไปได้ไกลชนิดไม่น้อยหน้าใครในโลกแล้ว  แต่การพัฒนาความคิด  กระบวนการคิด  ความคิดสร้างสรรค์  การคิดอย่างเท่าทัน  และการคิดอย่างมีมิติของเรากลับถดถอย  ขาดหาย  และพัฒนาไปได้น้อยอย่างน่าตกใจ  จนกระทั่งต้องบัญญัติกฎหมายบังคับ (มาตรา ๒๔)  ทั้งนี้ทั้งนั้นก็เพราะเราสั่งสมเหตุแห่งการจัดการศึกษาแบบให้น้ำหนักแก่ ตัวรู้มากกว่า ตัวคิด” นั่นเอง   ดังนั้น จึงถึงเวลาแล้วที่เราจะต้องใช้กระบวนการอ่านอย่างขบคิดแทรกซึมเข้าไปในทุกสาขาวิชา  ทุกตัวครูและผู้บริหาร  ซึ่งเครื่องมือสำคัญของการอ่านที่ว่านี้ก็คือ การอ่านอย่างมีมิติ  นั่นเอง
                เพราะชีวิตมนุษย์มีมิติที่ซับซ้อน ทั้งรูปธรรมและนามธรรม  การมีอิริยาบถเคลื่อนไหว บริโภค  คิด  พูด  ทำ  เกิด  แก่  เจ็บ  ตาย  เป็นเพียงส่วนที่มองเห็นเหมือนภาพแบนๆ เท่านั้น   ยังมีสิ่งที่ซ่อนเร้น  ไม่รู้  ไม่เห็น  ไม่เข้าใจ  และเข้าไม่ถึงอีกมากมาย   เช่นนี้แล้วเราจะยังมัวอ่านชีวิตและใช้ชีวิตเพียงภาพแบนๆ กันอีกหรือ  
                การสอนให้รู้จักคิด  มิใช่การบอกทฤษฎีความคิด  หรือมิใช่แนะให้คิดอย่างนี้อย่างนั้น  เปล่าเลย  การรู้จักคิด” นั้นบอกกันไม่ได้   แต่กระตุ้นเร้าได้  และปฏิบัติการแบบสั่งสมทักษะได้  ถ้าครูมีทักษะประสบการณ์การอ่านอย่างมีมิติที่เพียงพอ
                การเรียนการสอนทุกวิชาจะต้องให้บูรณาการกับ ความรักการอ่าน”  สุกกับการขบคิด  คิดอย่างเอาชีวิตเป็นศูนย์กลาง  หรือเอาชีวิตคนเป็นหลัก  มิใช่เอาวิชาเป็นหลัก หรือวิชาใครวิชามันอย่างที่ทำๆ กันอยู่  เราจะต้องเอาทักษะการจำเป็นเครื่องสนับสนุนการคิด  มิใช่เอาการจำนำหน้าการคิดอย่างเช่นทุกวันนี้   ข้อสอบที่วัดความจำก็จะต้องพลิกแพลงให้เป็นข้อสอบวัดศักยภาพการคิด   ข้อสอบที่วัดความรู้ก็จะต้องเปลี่ยนเป็นข้อสอบที่วัดศักยภาพการใช้ความรู้  ซึ่งทุกสิ่งทุกอย่างจะเป็นไปได้และทำได้แท้จริงก็ต่อเมื่อการอ่านหนังสือแตกฉาน  มีมิติ  การเรียนการสอนมีชีวิตชีวา  มีชีวิตที่เป็นจริงอยู่ในภาวะมิติแห่งความเป็นมนุษย์
                ที่สุดของที่สุดก็คือ  ครูจะต้องรักการอ่าน  ถ้าครูไม่รักการอ่านทุกสิ่งทุกอย่างก็จบ  กบแห่งการศึกษาที่เราคาดหวัง  คงมิสามารถกระโดดจากบ่อน้ำเก่าๆ ในถ้ำมืดออกไปสู่โลกกว้างแห่งจินตนาการอันเปี่ยมด้วยพลังทางปัญญาที่เจิดจ้าประภัสสรได้
                แต่อย่างไรก็ตาม  ก็มิได้คิดว่าครูที่มีจิตวิญญาณแห่งความเป็นครูอันงดงามจะเป็นเช่นนั้น บทความนี้จึงเขียนขึ้นด้วยความรู้สึกที่มีความหวัง… ขอให้เรามาร่วมกันสร้างมิติแห่งคุณค่าให้เกิดขึ้นในความหวังนั้นเถิด






    

                              ๓. ลักษณนามบางคำในภาษากฎหมายไทย



ผมได้อ่านบทความเรื่อง "ภาษากฎหมายไทย" ของศาสตราจารย์ธานินทร์ กรัยวิเชียร องคมนตรี ซึ่งท่านผู้หญิงสมโรจน์ สวัสดิกุล ณ อยุธยา ได้ถ่ายสำเนาไปให้ข้าพเจ้า ๑ ชุด เป็นบทความที่ศาสตราจารย์ธานินทร์ กรัยวิเชียร ได้เขียนไปเสนอในการอภิปรายเมื่อ พ.ศ. ๒๕๒๗ ข้าพเจ้าเห็นว่ามีประโยชน์มาก เพราะท่านผู้เขียนเป็นผู้ที่มีความสนใจในภาษาไทยมากเป็นพิเศษ ดูเหมือนจะมีอดีตนายกรัฐมนตรีไทยเพียงคนเดียวเท่านั้นที่สนใจในการพูดและการเขียนภาษาไทย ทั้งยังได้เขียนหนังสือและบทความเกี่ยวกับภาษาไทยที่มีคุณค่ามากไว้ให้เราได้อ่านและข้าพเจ้าได้รับความรู้ในแง่มุมต่าง ๆ จากหนังสือและบทความของท่านมาก   วันนี้จะขอนำข้อความบางตอนในบทความนั้นเฉพาะที่เกี่ยวกับ   "ลักษณนาม" มาเสนอท่านผู้ฟัง ดังนี้

       "ลักษณนามคำหนึ่งซึ่งจะถือว่าเปลี่ยนไปแล้วก็ได้ คือ เดิมลักษณนามที่เกี่ยวกับบุคคลคำหนึ่ง ใช้คำว่า "นาย" เช่น คณะกรรมการคณะนั้น ๆ มี ๙ นาย แต่สตรีมีสิทธิมากขึ้นกว่าเดิม (ส่วนหน้าที่ก็ดูจะมีน้อยลงไปด้วย) ตอนที่สตรีมีสิทธิมากขึ้น ก็ได้มาเป็นกรรมการในคณะต่าง ๆ ก็เกิดมีปัญหาตามมาว่าจะเรียกกรรมการ ๙ นายไม่ถูก ผู้หญิงจะเป็น "นาย" ได้อย่างไร ครั้นจะเรียกว่า ๕ นาย ๔ นาง ก็ดูกระไรอยู่ จึงต้องเปลี่ยนใช้คำรวมเป็น "คน" คือ กรรมการ ๙ คน ฝ่ายสตรีซึ่งเพิ่งได้สิทธิมาใหม่ ๆ ก็เจ้ายศเจ้าอย่างหน่อยตัดพ้อว่า แต่ก่อนร่อนชะไรเรียก "นาย" ได้ เดี๋ยวนี้เรียก "คน" เสียแล้ว ดูคล้าย ๆ ว่า ชายไม่ยกย่องหญิงเท่า ที่ควร ปัจจุบันนี้ฝ่ายชายซึ่งโดยปรกติก็ด้อยกว่าฝ่ายหญิงอยู่แล้วในเรื่องความสามารถ ความปราดเปรื่อง และความเด็ดเดี่ยว ก็จะต้องยอมรอมชอมเพื่อรักษาความสงบ ยกย่องเสียโด่งฟ้าเลยว่า เป็นกรรมการ ๙ "ท่าน" บัดนี้ ไม่ว่าชายหรือหญิงกลายเป็น "ท่าน" ไปหมดแล้ว."

       การใช้ลักษณนามว่า "ท่าน" แทนคำว่า "คน" นั้น เท่าที่ข้าพเจ้าทราบมาเป็นอีกแนวหนึ่งว่า ในที่ประชุมคณะกรรมการคณะหนึ่ง มีทั้งเจ้านายและเสนาบดีร่วมเป็นกรรมการในคณะเดียวกัน เวลาจะใช้ลักษณนามจะใช้อย่างไร เพราะตามปรกติถ้าเป็นเจ้านายก็ใช้ลักษณนามว่า "องค์" เป็นเสนาบดีก็ใช้ ลักษณนามว่า "คน" ถ้าสมมุติว่า ในคณะกรรมการชุดนั้นมีเจ้านาย ๒ องค์ เสนาบดี ๓ คน ผู้ที่มิได้มียศถาบรรดาศักดิ์อีก ๓ คน จะใช้ลักษณนามว่าอย่างไร จะบอกว่ามี "กรรมการมาประชุม ๒ องค์ กับ ๖ คน" กระนั้นหรือ เพื่อแก้ปัญหานี้ ท่านจึงใช้ลักษณนามกลาง ๆ ว่า "ท่าน" คือมี "กรรมการมาประชุม ๘ ท่าน" คำว่า "ท่าน" ซึ่งตามปรกติเป็นคำสรรพนาม เลยกลายเป็นคำนาม คือใช้เป็นลักษณนามไป ปัจจุบันนี้มีผู้นำคำว่า "ท่าน" ไปใช้เป็นลักษณนามให้เกร่อไปหมด แม้แต่นักเรียนและนักโทษก็พลอยไปรับยกย่องให้ใช้ลักษณนามว่า "ท่าน" ไปด้วย เช่น มีนักเรียน ๓๐ ท่าน มีนักโทษ ๒๕ ท่าน ฯลฯ อย่างนี้ก็ออกจะเกินพอดีไปมาก ข้าพเจ้ามีความเห็นว่า ถ้าเป็นคนทั่ว ๆ ไป ก็ใช้ลักษณนามว่า "คน" เหมือนกันหมด ก็จะไม่มีปัญหาอะไร แต่การที่จะใช้ ลักษณนามกับสตรีว่า "นาย" ก็ดูขัด ๆ หูอยู่ ถ้าจะใช้ลักษณนามว่า "นาง"  ก็คงไม่มีใครชอบ และยิ่งสตรีที่ยังมิได้แต่งงานหากใช้ลักษณนามว่า  "นาง"  เขาก็คงไม่ชอบอย่างแน่นอน    และอาจต่อว่าหาว่าไปดูถูกดูหมิ่นเขาก็ได้   แต่ถ้าใช้  ลักษณนามว่า "คน" เหมือนกันหมด ก็ไม่เห็นว่าจะเสียหายตรงไหน เพราะทั้งผู้หญิงผู้ชายต่างก็เป็นคนเหมือนกัน

       คำลักษณนามอีกคำหนึ่ง ที่ศาสตราจารย์ธานินทร์ กรัยวิเชียร กล่าว ถึงก็คือลักษณนามที่ใช้กับ "ช้าง" ดังที่ท่านได้เขียนถึงไว้ดังนี้

       "อนึ่ง ภาษากฎหมายครั้งรัชกาลที่ ๔ นั้น ลักษณนามบางคำ ท่านทรงตราไว้เป็นกฎหมายว่า ช้างก็ดี ม้าก็ดี เป็นสัตว์ชั้นสูง จะเรียกช้างหนึ่งตัว ม้าหนึ่งตัวไม่ได้ ต้องเรียก "ช้างหนึ่งช้าง" "ม้าหนึ่งม้า" มิฉะนั้นจะมีความผิด แต่ภาษาวิวัฒนาการเรื่อยมา จนถึงปัจจุบันลักษณนามเกี่ยวกับช้างและม้าเปลี่ยนไปแล้ว เราเรียก "ช้างหนึ่งเชือก" "ม้าหนึ่งตัว" แต่กระนั้นก็ดี ในวงการนักกฎหมายนั้น เคยมีการออกข้อสอบของสำนักอบรมศึกษากฎหมายของเนติบัณฑิตยสภาอยู่ปีหนึ่งว่า "ช้างพังเชือกหนึ่ง ออกลูกหนึ่งตัว..." กรรมการสอบไล่ต้องไปถกเถียงกันอีกว่า แล้วเมื่อไร ลูกช้าง "ตัว" นั้น จะบรรลุนิติภาวะเป็น "เชือก" ขึ้นมา อย่างไรก็ดี โดยที่ร่างกฎหมายมาจนชิน ไม่มีผู้ใดทักท้วงได้ ท่านกรรมการผู้ออกข้อสอบข้อนั้นก็ไม่ยอมเปลี่ยนลักษณนามจาก "ตัว" เป็น "เชือก" ตามที่ มีผู้ถกเถียงกัน."

       ในเรื่องลักษณนามของช้างนี้ พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวทรงเห็นว่าช้างและม้าเป็นสัตว์ชั้นสูง จึงทรงให้ใช้ลักษณนามว่า "ช้าง" และ "ม้า" ส่วนสัตว์อื่น ๆ ให้ใช้ลักษณนามว่า "ตัว"

       ในการประชุมคณะกรรมการกำหนดหลักเกณฑ์การใช้ภาษาไทย ของราชบัณฑิตยสถานก็ได้เคยนำเรื่องนี้มาพิจารณาและได้ลงความเห็นว่า "ช้าง" ควรจะมีลักษณนาม ๓ คำ คือ ช้างป่าหรือช้างเถื่อนที่ยังไม่มีใครไปจับมาใช้งานนั้นให้ใช้ลักษณนามว่า "ตัว" ส่วนช้างที่ถูกจับมาฝึกฝนจนใช้งาน เช่น งัดซุง ลากซุง ฯลฯ ได้แล้ว ให้ใช้ลักษณนามว่า "เชือก" เพราะตอนที่เขาจับมาเพื่อใช้งานนั้น เขาจะต้องเอาเชือกมาตกปลอกไว้ที่เท้าของมัน โดยเหตุนี้จึงใช้ลักษณนามว่า "เชือก" ส่วนช้างของหลวงก็ดี ม้าของหลวงก็ดี ถ้าได้ขึ้นระวางเป็นของหลวงแล้ว ให้ใช้คำว่า "ช้าง" เป็นลักษณนามของ "ช้าง" และใช้คำว่า "ม้า" เป็นลักษณนามของ "ม้า" ไม่ใช่ว่าออกลูกมาใหม่ ๆ ลูกช้างให้ใช้ลักษณนามว่า "ตัว" แต่เมื่อไรจึงจะใช้ลักษณนามว่า "เชือก" มิได้บอกไว้

       ถ้าถือตามที่ข้าพเจ้ากล่าวมา ลูกช้าง ถ้าเป็นลูกของช้างป่า ก็คงใช้ ลักษณนามว่า "ตัว" ถ้าเป็นลูกของช้างบ้าน ก็ให้ใช้ลักษณนามว่า "เชือก" และถ้าเป็นลูกช้างของช้างหลวงก็ใช้ลักษณนามว่า "ช้าง"

       เรื่องการใช้ลักษณนามว่าคำใดจะใช้ลักษณนามอย่างไรนั้น เวลานี้ "คณะกรรมการกำหนดหลักเกณฑ์เกี่ยวกับการใช้ภาษาไทย" ได้พิจารณา ลักษณนามของคำนามต่าง ๆ ที่เก็บไว้ในพจนานุกรม ฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ. ๒๕๒๕ ไว้และได้พิจารณาจบไปวาระหนึ่งแล้ว ขณะนี้กำลังทบทวนเป็นวาระที่ ๒ ซึ่งก็เกือบจบแล้วเช่นกัน ต่อไปคงไม่นานนักก็คงจะมีหนังสือคู่มือการใช้ลักษณนามขึ้นในบรรณโลกอย่างแน่นอน.
จำนงค์   ทองประเสริฐ
๒๑ ตุลาคม  ๒๕๓๔






                                                   ๔. อวัจนภาษาในภาษาหนังสือพิมพ์



โดย :taeytatang
สร้างเมื่อ 27-05-2008
อวัจนภาษาในภาษาหนังสือพิมพ์ 
ผศ.สุภิตร อนุศาสน์ 
          ภาษาเป็นเครื่องมือที่ใช้สื่อสารจะใช้เสียง ท่าทาง หรือสัญลักษณ์ก็ได้ แต่จะต้องมีระบบกฎเกณฑ์ที่เข้าใจ ตรงกันระหว่างผู้ส่งสารและผู้รับสาร ภาษาที่ใช้สื่อสารกันเป็นปกติในชีวิตประจำวันแบ่งได้เป็น 2 ประเภท คือ ภาษาที่ใช้ถ้อยคำ หรือวัจนภาษาและภาษาที่ไม่ใช้ถ้อยคำหรืออวัจนภาษา
         
ถ้อยคำหรือวัจนภาษา เป็นภาษาที่มนุษย์กำหนดใช้และตกลงร่วมกันเพื่อแทนมโนภาพของสิ่งต่าง ๆ ซึ่งสามารถรับรู้ได้ทางประสาทสัมผัสได้แก่ ตา หู จมูก ลิ้น กาย
         
ภาษาที่ไม่ใช้ถ้อยคำหรืออวัจนภาษา คือ กิริยาอาการต่าง ๆ ที่มนุษย์ใช้สื่ออารมณ์ความรู้สึกความต้องการ ฯลฯ บางท่านเรียกภาษาประเภทนี้ว่าภาษากาย (body language) อวัจนภาษา ของผู้ใดส่วนใหญ่จะบ่งบอกถึงความรู้สึกและบุคลิกภาพของผู้นั้น
        
 วัจนภาษา และ อวัจนภาษา มีความสัมพันธ์กัน โดยเฉพาะในขณะที่บุคคลสื่อสารกันใน ลักษณะที่เห็นหน้าเห็นตากัน ย่อมต้องใช้ทั้งวัจนภาษา และ อวัจนภาษา เช่น ถ้าพูดว่า "ฉันต้องการหนังสือเล่มนั้น" และชี้มือไปที่หนังสือเล่มที่ต้องการ ผู้รับสารก็สามารถหยิบหนังสือได้ถูกต้อง
          การสื่อสาร โดยใช้วัจนภาษา ในรูปแบบการเขียนนั้น หากสังเกตให้ดีจะพบว่าถ้อยคำที่เขียนนั้นมีอวัจนภาษาปนอยู่ด้วย เช่น
          "เขยิบ เขยิบ เขยิบ เขยิบ เข้ามาซิ กระแซะ กระแซะ กระแซะ เข้ามาซิ"
          "ใกล้ ๆ เข้าไปอีกนิด ชิด ๆ เข้าไปอีกหน่อย สวรรค์น้อยน้อย อยู่ในวงฟ้อนรำ"
        
 คำว่า เขยิบ กระแซะ หรือใกล้ ๆ ชิด ๆ ช่วยให้ผู้รับสารเห็นกิริยาอาการ หรือบทชมปลาในกาพร์เห่เรือ ของเจ้าฟ้าธรรมธิเบศร
"ชะแวงแฝงฝั่งแนบ วาดแอบแปบปนปลอม 
เหมือนพี่แอบแนบถนอม จอมสวาทนาฎบังอร"
          คำว่า แฝง , แนบ , แอบ เป็นคำที่ช่วยผู้อ่านมองเห็นภาพตามที่กวีบรรยายได้อย่างชัดเจน อวัจนภาษา แบ่ง เป็น 7 ประเภท (สวนิต ยมาภัย , 2538 : 36 - 41) ดังนี้
         
1. เทศภาษา (proxemics) เป็นภาษาที่ปรากฎจากลักษณะของสถานที่ที่บุคคลทำการสื่อสาร กันอยู่รวมทั้ง ช่องระยะที่บุคคลทำการสื่อสารห่างจากกัน สถานที่และช่วงระยะ จะสื่อความหมายที่อยู่ในจิตสำนึกของผู้ที่กำลังสื่อสารกันได้ เช่น บุคคลต่างเพศสองคนนั่งชิดกันอยู่บนม้านั่งตัวเดียวกันย่อมเป็นที่เข้าใจว่าบุคคลทั้งสองมีความสัมพันธ์เป็นพิเศษ
         
2. กาลภาษา (chonemics) การใช้เวลาเป็นการสื่อสารเชิงอวัจนะ เพื่อแสดงเจตนาของผู้รับสาร เช่น การ ไปตรงเวลานัดหมาย แสดงถึง ความเคารพ การให้เกียรติ และเห็นความสำคัญของผู้ส่งสาร หรือการรอคอยด้วยความอดทน แสดงว่า ธุระของผู้รอคอยมีความสำคัญมาก
         
3. เนตรภาษา (oculesics) เป็นอวัจนภาษาที่ใช้ดวงตาสื่ออารมณ์ ความรู้สึกนึกคิด ความประสงค์ และ ทัศนคติบางประการในตัวผู้ส่งสาร
         
4. สัมผัสภาษา (haptics) หมายถึงอวัจนภาษาที่ใช้อาการสัมผัส เพื่อสื่ออารมณ์ความรู้สึก ตลอดจน ความ ปรารถนา ที่ฝังลึกอยู่ในใจของผู้ส่งสารไปยังผู้รับสาร
         
5. อาการภาษา (kinesics) เป็นอวัจนภาษาที่อยู่ในรูปของการเคลื่อนไหวร่างกาย เพื่อการสื่อสาร เช่น ศีรษะ แขน ขา ลำตัว เป็นต้น
         
6. วัตถุภาษา (objectics) เป็นอวัจนภาษาที่เกิดจากการใช้และการเลือกวัตถุ มาใช้ เพื่อแสดงความหมาย บางประการ เช่น การแต่งกายของคน ก็สามารถสื่อสารบอกกิจกรรม ภารกิจ สถานภาพ รสนิยม ตลอดจนอุปนิสัยของบุคคลนั้น ๆ ได้
         
7. ปริภาษา (vocalics) หมายถึงอวัจนภาษา ที่เกิดจากการใช้น้ำเสียงประกอบถ้อยคำที่พูดออกไป น้ำ เสียงจะมีความสำคัญมากในการสื่อความหมายนั้น
         
ความสัมพันธ์ระหว่างวัจนภาษาและอวัจนภาษา นอกจากจะเกิดขึ้นในขณะที่บุคคลกระทำการสื่อสาร เฉพาะหน้ากันแล้ว ในภาษาถ้อยคำหรือในวัจนภาษา เราจะสังเกตเห็นอวัจนภาษาแฝงอยู่ด้วยตัวอย่างที่เห็นอย่างสม่ำเสมอคือ การพาดหัวข่าวของหนังสือพิมพ์ ทั้งนี้เพราะนักหนังสือพิมพ์ใช้ กลวิธีเขียนข่าวให้มีสีสันหรือวาดให้เห็นภาพ (illustration) ซึ่งอาจเรียกว่าเป็นการแสดงเรื่องให้ผู้อ่านดูมากกว่า การเล่าเรื่องหรือการรายงานข่าว การพาดหัวข่าวของหนังสือพิมพ์ จึงเป็นภาษาที่เขียนขึ้นเพื่อให้ผลทางอารมณ์ แก่ผู้อ่าน ซึ่งอาจเรียกว่าเป็น speeial objects เช่น
         
"สำนักงบฯ ตีปี๊บ โครงการเงินกู้เจ๋ง"
          "ฆ่าโหด 20 ศพ ฝังทั้งเป็น" ถ้าเปลี่ยน เป็น
          "สำนักงบประมาณแถลงข่าวเรื่องโครงการเงินกู้ว่าประสบความสำเร็จ"
          "ชาย 20 คน ถูกฆ่าโดยวิธีการฝังทั้งเป็น"
         
จะพบว่า ภาษาเป็นทางการ ขาดสีสัน ไม่เร้าอารมณ์ ให้ติดตามรายละเอียดในเนื้อข่าว เมื่อนำภาษาพาดหัวข่าวของหนังสือพิมพ์ มาพิจารณาความสัมพันธ์ระหว่างวัจนภาษาและอวัจนภาษาแล้วพบว่า
อวัจนภาษาที่พบมากในภาษาพาดหัวข่าวมี 3 ประเภท คือ
1. อาการภาษา อวัจนภาษา ประเภทนี้จะพบมากที่สุด เพราะเป็นอวัจนภาษาที่เสริมให้วัจนภาษามีความ หมายชัดเจน เช่น ให้ผู้อ่านมองเห็นภาพ เช่น
          3 โจรบุกปล้นเรือนมยุรา
          รวบ คาโรงแรม โจ๋มัธยมมั่วยา
          คนกรมศาสนาลุย ปิดแล้วสำนักเพี้ยน
          สุรศักดิ์ได้ประกัน หอบ 18 ล้านค้ำ
          4 งูเห่าซบ ชพ.คึก ยึดนนท์ - ลุยปทุมฯ เปิดทีมหักหาญสวัสดิ์
 2. สัมผัสภาษา อวัจนภาษาประเภทนี้พบไม่มากนัก เป็นกริยาที่คนสองคนร่วมกันทำกิจกรรม หรือเป็น กิจกรรมของคนคนเดียวที่สัมผัสกับผู้อื่น เช่น
          กก แคชเชียร์ ผจก. ดับบริศนา
          หลุยส์ ควง สนั่น ไหว้ครูรามฯ
          มีกริยาบางคำที่เป็นสัมผัสภาษา แต่สื่อมวลชน นำมาใช้ในความหมายแฝง คำเหล่านี้ ไม่จัดเป็นสัมผัสภาษา เช่น
          รัฐควัก 300 ล. เน้น สิบล้อ
          คำว่า "อุ้ม" ในที่นี้หมายถึง ช่วยเหลือ จึงไม่จัดเป็นสัมผัสภาษา
         
3. ปริภาษา อวัจนภาษา ประเภทนี้มีไม่มากนัก ส่วนใหญ่เป็นการใช้คำเลียนเสียง เพื่อแสดงอารมณ์หรือ กระตุ้นให้ผู้อ่านแปลความหมายจากเสียงที่ได้ยินว่า เป็นอารมณ์อย่างไร เช่น แท็กซี่
          ฮื่ม - ประมง ปิดอ่าว ครม. ไม่ลดแวต
          เสรีธรรม เฮ ลั่นรับอีดี้
          คำว่า ฮื่ม เป็นน้ำเสียงแสดงอารมณ์ไม่พอใจ เฮ แสดงอารมณ์พอใจ ส่วน บิ้ม เป็นเสียงวัตถุระเบิด
สำหรับอวัจนภาษาประเภท เทศภาษา กาลภาษา วัตถุภาษา เนตรภาษา เท่าที่ศึกษายังไม่พบแต่อาจจะปรากฎใน ภาพข่าว หรือ การ์ตูน ซึ่ง เป็นอวัจนาภาษาที่ช่วยให้ผู้รับสารเข้าใจเนื้อหาของสารมากขึ้น เช่น
         
ภาษาหนังสือพิมพ์ เป็นภาษาที่มีลักษณะเฉพาะ และมีอิทธิพลมากกว่าสิ่งพิมพ์อื่น ๆ เพราะหนังสือพิมพ์เป็นสื่อที่เข้าถึงประชาชนทุกระดับ การที่หนังสือพิมพ์มีภาษาเฉพาะใช้ในวงการ และโดยเฉพาะการพาดหัวข่าวและหัวข่าวรองที่มีเนื้อที่กระดาษ จำกัด จำเป็นต้องใช้คำกระชับสะดุดตา  สะดุดใจคนอ่านซึ่งนับเป็นการสร้างสรรค์ทางภาษาที่น่าสนใจ และนักศึกษาอย่างยิ่ง












๕.สอนวรรณคดีไทยอย่างไรในยุคปฏิรูปการศึกษา



วรรณคดีไทย เป็นสมบัติล้ำค่าของแผ่นดินที่กวีทั้งหลายได้รังสรรค์ไว้ เพื่อให้เป็นเพชรล้ำค่าคู่แผ่นดินไทยมาในทุกยุคทุกสมัย วรรณคดีจะสะท้อนภาพของสังคมไทย ตามทัศนะของกวีที่เฝ้า มองและจับตาดูสภาพสังคมในฐานะสมาชิกคนหนึ่งในสังคมแล้วนำเสนอภาพที่เห็นออกมาตามมุมมองของตนโดยใช้ตัวอักษรที่มีแง่งามในด้านวรรณศิลป์เป็นเครื่องมือสำคัญในการถ่ายทอดสู่สายตาผู้อ่านจึงกล่าวได้ว่า วรรณคดีไทยคือสมบัติคู่บ้านคู่เมือง และมีส่วนสำคัญในการแสดงถึงความเป็นชาติมาช้านานปัจจุบันหลักสูตรการศึกษาทุกระดับได้มีการบรรจุวรรณคดีไทยเอาไว้ในหลักสูตรการเรียนการสอนวิชาภาษาไทย ทั้งนี้ก็เพราะในหมวด 4 ของแนวการศึกษาที่กำหนดไว้ตามพระราชบัญญัติการศึกษาแห่งชาติ พ.ศ. 2542 (สำนักงานคณะกรรมการศึกษาแห่งชาติ, 2542 : 12 )

ได้กล่าวถึงการเน้นความสำคัญของความรู้ของผู้เรียนในข้อหนึ่งไว้ว่า ความรู้เรื่องเกี่ยวกับตนเอง และ ความสัมพันธ์ของตนเองกับสังคม ได้แก่ ครอบครัว ชุมชน ชาติ และ สังคมโลก รวมถึงความรู้เกี่ยวกับประวัติศาสตร์ความเป็นมาของสังคมไทย และ ระบบการเมืองการปกครองในระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข ดังนั้น การศึกษาวรรณคดีไทยจึงน่าจะเป็นเครื่องมือสำคัญอย่างหนึ่งที่จะช่วยทำให้แนวการจัดการศึกษาตามพระราชบัญญัติการศึกษาแห่งชาติ พ.ศ.2542 ข้อที่กล่าวไว้ข้างต้นนี้บรรลุจุดมุ่งหมายได้เป็นอย่างดี เพราะวรรณคดีก็คือ ภาพสะท้อนสังคม หรือ กระจกเงาบานใหญ่ของสภาพสังคมไทยนั่นเอง

การเรียนการสอนวรรณคดีไทยในโรงเรียน นอกจากจะมุ่งเน้นให้ผู้เรียน มองเห็นคุณค่า และช่วยกันธำรงไว้ซึ่งเอกลักษณ์ไทยแล้ว การสอนวรรณคดีไทยยังช่วยให้ผู้เรียนได้เรียนรู้แนวคิด พฤติกรรม ค่านิยมของผู้คนในยุคสมัยนั้น ๆ ว่าเป็นอย่างไร ข้อคิดคำสอน ตลอดจนอุทาหรณ์สอนใจที่ได้จากวรรณคดี ล้วนเป็นภูมิปัญญาอันล้ำค่ายิ่งที่กวีทั้งหลายได้ฝากไว้ ในกลวิธีการประพันธ์ที่สามารถสร้างแง่งามให้เกิดขึ้นได้อย่างกลมกลืนแต่โดยทั่วไปการสอนวรรณคดีไทยในโรงเรียนทั่ว ๆ ไป ยังคงเป็นเพียงการสอนอ่านเอาเรื่องหรือการสอนอ่านออกเสียง หรือบางครั้งที่ซ้ำร้ายไปกว่านั้นก็เป็นการสอนวิชาประวัติศาสตร์ไทยเอาเสียเลย ผู้สอนหลายคนมักจะมุ่งเน้นให้ผู้เรียนเข้าใจความหมาย และท่องจำคำศัพท์โบราณ หรือ ศัพท์ยาก ๆ เอาไว้ให้ขึ้นใจ เพื่อจะได้เก็บไว้ตอบคำถามในการทำข้อสอบในตอนท้ายในขณะที่ผู้สอนบางคนก็จะมุ่งให้ผู้เรียนแปลความหมายในงานประพันธ์ร้อยกรองที่เป็นภาษาไทยอยู่แล้วและเป็นภาษาไทยที่มีแง่งามทางด้านวรรณศิลป์อย่างดีเยี่ยมให้ออกมาเป็นภาษาไทยร้อยแก้วที่ต้องสละสลวยยิ่งขึ้นไปกว่าเดิมมากยิ่งขึ้นด้วยฝีมือของผู้เรียนที่ยังใช้ภาษาไทยได้ยังไม่ดีเท่าใดนัก นอกจากนี้ผู้สอนบางคนยังมุ่งเน้นย้ำให้ผู้เรียนพยายามจดจำถึงรายละเอียดปลีกย่อยที่หากไม่ตั้งใจจริง ๆ ก็คงจะจำไม้ได้ แต่ครูผู้สอนก็จะเน้นย้ำว่าเป็นเรื่องสำคัญและสำคัญมากจนต้องจำให้ได้ขึ้นใจในที่สุด ประเด็นการจัดการเรียนการสอนต่าง ๆ เหล่านี้ล้วนแล้วแต่ไม่ก่อให้เกิดความสุนทรีย์ในการเสพงานวรรณคดีไทยแต่อย่างไร ตรงกันข้าม กลับทำให้ผู้ที่จะเสพวรรณคดีไทยอาจสำลัก และพาลเบื่อหน่ายไปได้ในเวลาอันรวดเร็ว และก็กลายเป็นปัญหาเรื้อรังของการเรียนวิชาภาษาไทยในส่วนของวรรณคดีไทยไปได้ในที่สุด ยิ่งถ้าหันมาพิจารณาถึงข้อสอบคัดเลือกเข้าศึกษาต่อในระดับอุดมศึกษาของทบวงมหาวิทยาลัยในวิชาภาษาไทย สำหรับส่วนของวรรณคดีไทยแล้วจะเห็นได้ชัดเจนว่า ลักษณะของข้อสอบจะเป็นการถามถึงแนวคิด ลักษณะภาพสะท้อนสภาพสังคม ค่านิยมที่ปรากฏในวรรณคดีไทยแต่ละเรื่อง นอกจากนี้ก็เป็นถามถึงสุนทรียภาพของการใช้ภาษาไทยในด้านวรรณศิลป์ และนี่เอง คงจะเป็นการไขข้อปริศนาสำคัญที่ว่า ทำไมนักเรียนชั้นมัธยมศึกษาตอนปลายทั่วประเทศไทย จึงต้องไปสมัครเรียนกวดวิชา สำหรับวิชาภาษาไทยเพื่อการสอบเอนทรานซ์เป็นจำนวนมาก คำตอบที่ง่ายที่สุดก็คือ เรียนอย่างหนึ่งแต่กลับสอบอีกอย่างหนึ่งนั่นเอง
จึงมาถึงคำถามสำคัญที่ว่า แล้วควรสอนวรรณคดีไทยกันอย่างไรดี ผู้เรียนจึงจะสามารถบรรลุวัตถุประสงค์ตามที่พระราชบัญญัติการศึกษาแห่งชาติ ได้กำหนดเอาไว้ในยุคของการปฏิรูปการศึกษา ในเมื่อสาระสำคัญของการเรียนรู้ในปัจจุบันเน้นให้ผู้เรียนคิดเป็น ทำเป็น รักการอ่าน และ เกิดการใฝ่รู้อย่างต่อเนื่อง มุ่งปลูกฝังให้ผู้เรียนมีจิตสำนึกที่ถูกต้องในศักดิ์ศรีของความเป็นมนุษย์ มีความภูมิใจในความเป็นไทยรู้จักรักษาภูมิปัญญาท้องถิ่น ภูมิปัญญาไทย ( สำนักงานคณะกรรมการศึกษาแห่งชาติ , 2542 : 5 ) ในฐานะที่ผู้เขียนเป็นผู้ที่มีประสบการณ์สอนวิชาภาษาไทยมากกว่า 10 ปี จึงใคร่ขอเสนอแนวทางในการสอนวรรณคดีไทยในโรงเรียนเพื่อให้เกิดความสอดคล้องและเป็นการขานรับกับนโยบายการศึกษาในยุคปฏิรูป ดังต่อไปนี้
1) ครูผู้สอนวรรณคดีไทย พึงระลึกถึงลักษณะสำคัญของวรรณณคดีเอาไว้อยู่เสมอ ว่า วรรณคดีคือภาพสะท้อนสภาพสังคมแห่งยุคสมัย ผู้ประพันธ์หรือกวีจะสะท้อนแนวคิด มุมมองที่ตนมีอยู่ผ่านลงไปในเนื้อเรื่องที่ผู้ประพันธ์ได้เรียงร้อยขึ้นมา ดังนั้นในการสอนครูผู้สอนจะต้องหาวิธีการที่จะทำให้ผู้เรียนมองเห็นและวิเคราะห์ภาพ ตลอดจนแนวคิดที่กวีสะท้อนออกมาให้ได้ใกล้เคียงที่สุด การนำเหตุการณ์ทางประวัติศาสตร์แห่งยุคสมัยมากล่าวถึงในการสอน จะเป็นเพียงฉากหลังที่จะช่วยส่งให้ภาพสะท้อนเด่นชัดขึ้นเท่านั้น แต่ไม่ใช่ประเด็นหลัก ในการกล่าวถึงมากมายแต่อย่างใด
2) ครูผู้สอนวรรณคดีไทย ควรส่งเสริมให้ผู้เรียนได้รู้จัก ใช้ความคิด รู้จักใคร่ครวญใช้สติปัญญาของตนในการแก้ปัญหาที่เกิดขึ้น การอ่านงานวรรณคดีจะทำให้มองเห็นแง่มุมเรื่องราวชีวิตของผู้คนที่หลากหลายต่างยุคต่างสมัยพฤติกรรมของตัวละครในวรรณคดีเรื่องต่าง ๆ จะทำให้มองเห็นแง่มุมเรื่องราวชีวิตของผู้คนที่หลากหลายต่างยุคต่าสมัย พฤติกรรมของตัวละครที่เกิดขึ้นและโลดแล่นอยู่ในเนื้อเรื่องจะเป็นบทเรียนชีวิตจำลองที่ท้าทายให้ผู้เรียนได้รู้จักขบคิด และติดตาม ครูผู้สอนควรใช้สิ่งเหล่านี้ เป็นข้อมูลตัวอย่างในการฝึกฝนการใช้สติปัญญาในการขบคิดแก้ปัญหาของผู้เรียน สถานการณ์ต่าง ๆ และพฤติกรรมของตัวละครที่เกิดขึ้น น่าจะหยิบยกขึ้นมาเป็นแบบฝึกประสบการณ์ชีวิตของผู้เรียน ได้ทดลองใช้มุมมองและแนวความคิดของตนในการไตร่ตรอง ใคร่ครวญเพื่อเพิ่มพูนความเฉียบคมของสติปัญญาให้เพิ่มมากขึ้น
3) ครูผู้สอนวรรณคดีไทยควรจะเน้นให้ผู้เรียนมองเห็นความงดงามและศิลปะของการใช้ภาษาไทยในการรังสรรค์ และ รจนาผลงานของกวี ผู้เรียนควรจะได้เสพถึงสุนทรียะ แห่งความซาบซึ้ง ในด้านรสคำ และ รสความ ความเสนาะของเสียงจากการเลือกสรรถ้อยอักษรของกวีที่บรรจงนำมาเรียงร้อยอย่างตั้งใจเพื่อก่อให้เกิดอารมณ์สะเทือนใจแก่ผู้อ่าน ครูผู้สอนควรใช้ความรู้ทางหลักไวยกรณ์ไทย ในด้านสัทศาสตร์ มาช่วยในการอธิบายถึงการเลือกสรรถ้อยคำและเสียงเสนาะของวรรณคดีชิ้นนั้น ๆ เพื่อทำให้ผู้เรียนมองเห็นความมหัศจรรย์ของกวี ความอลังการของการเลือกสรรภาษามาร้อยเรียงอย่างมีศิลปะจนเกิดความงาม ตลอดจนอัจฉริยลักษณ์ของภาษาไทยของเราให้ได้
4) ครูผู้สอนวรรณคดีไทยควรใช้เนื้อหา เหตุการณ์ของวรรณคดีที่กวีได้รังสรรค์รจนาเอาไว้มาเป็นแรงจูงใจสำคัญในการที่จะทำให้ผู้เรียนเป็นผู้ที่มีนิสัยรักการอ่าน และ เป็นผู้ใฝ่รู้อย่างต่อเนื่องกล่าวคือ ครูผู้สอนจะต้องพยายามใช้งานวรรณคดีที่ผู้เรียนกำลังอ่านอยู่ในชั้นเรียนนั้นเป็นตัวกระตุ้นและยั่วยุให้ผู้เรียนเกิดความกระหายใฝ่รู้ อยากจะติดตามอ่านเนื้อหาสืบเนื่องจากเรื่องที่กำลังอ่านอยู่เดิม หรือ เห็นความสำคัญของการค้นหาความรู้ด้านอื่น ๆ มาประกอบ หรือ ขยายความให้งานวรรณคดีที่ตนกำลังอ่านอยู่เกิดความชัดเจนยิ่งขึ้น ผู้เรียนอยากหาโอกาสในการพูดคุยแลกเปลี่ยนความคิดเห็นกับเพื่อนในชั้นเรียนหรือ คนอื่น ๆ ที่เคยได้มีโอกาสอ่านงานประพันธ์ชิ้นเดียวกันมาแล้ว เพื่อเป็นการขยายโลกทัศน์ของตนให้กว้างขวางออกไปยิ่งขึ้น

จากแนวทาง 4 ประการที่ผู้เขียนได้เสนอแนะเอาไว้ข้างต้นนี้ คงจะช่วยทำให้ครูผู้สอนมองเห็นภาพรวมของการสอนวรรณคดีไทยในยุคปฏิรูปการศึกษา ที่เน้นผู้เรียนเป็นสำคัญ โดยมุ่งหวังให้ผู้เรียนสามารถสร้างองค์ความรู้ด้วยตนเองได้ มีนิสัยใฝ่รู้อย่างต่อเนื่อง และคงไม่ใช่ภาระหนักอึ้งเกินไปสำหรับครูผู้สอนภาษาไทยทุกท่านที่เคยศึกษาวรรณคดีไทยกันมาแล้วอย่างลึกซึ้งและถ่องแท้เพียงแต่ว่า เมื่อจะนำมาสอนผู้เรียนให้เกิดคุณลักษณะเหล่านี้ขึ้นมาบ้าง อาจจะยังมองไม่เห็นแนวทาง หรือ อาจจะยังหลงทางไปบ้าง แต่ก็คงยังไม่สายเกินไปกับการที่จะหันกลับมา และลองใช้กลวิธีการสอนที่ผู้เขียนได้นำเสนอไว้เพื่อให้วรรณคดีไทยของเรา “จงคงคู่กัลปา ยืนโยค หายแผ่นดินฟ้าไหม้ อย่าหาย”
เอกสารอ้างอิง
คณะกรรมการศึกษาแห่งชาติ, สำนักงาน . (2542) . พระราชบัญญัติการศึกษาแห่งชาติ พ.ศ.2542. กรุงเทพฯ : มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ .
ศิลปศาสตร์ธรรมศาสตร์ , สมาคม . (2537) . เอกสารประกอบการอบรม เรื่องการสอน วรรณคดีไทยให้สนุก. กรุงเทพฯ : มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์.






          

                           ๖. บทความกลอนเกี่ยวกับเพื่อน

รวมบทกลอนเพราะ ๆ เกี่ยวกับเพื่อน 
     ก่อนจากกันนั้นมีกลอนฝากถึงเพื่อน คอยย้ำเตือนให้เรามิห่างหาย
มิตรภาพที่มีไม่เสื่อมคลาย เราและนายเป็นเพื่อนกันตลอดไป
แม้วันนี้จวนถึงวันที่ต้องจาก ต้องพลัดพรากกันไปไกลแสนไกล
แต่ความรักที่มียังตรึงใจ แม้จากไปแต่ใจคิดถึงเธอ
ที่มาของ กลอนเกี่ยวกับเพื่อน


กลอนเกี่ยวกับเพื่อน ซึ้งๆ

     
วันของเรา ใกล้จะกลาย เป็นความหลัง
นึกถึงวัน เฮฮา น้ำตาไหล
แม้ว่าเรา อาจต้องห่าง จากไปไกล
แต่ในใจ คือเพื่อนกัน ไม่เปลี่ยนแปลง



























วันศุกร์ที่ 7 มกราคม พ.ศ. 2554

การกินอาหารเพื่อสุขภาพ




10 วิธีการกินอาหารเพื่อสุขภาพที่ดี



 ในแต่ละวันเราจำเป็นต้องรับประทานอาหารมากมาย มีคำแนะนำจากหลายสำนักให้กินนั่น ห้ามกินนี่จนไม่รู้จะเชื่อใครดี วันนี้เราจึงมีเคล็ดลับง่ายๆ ของการกินให้ได้ประโยชน์สูงสุดต่อสุขภาพอย่างเต็มที่มาฝาก

1. กินอาหารเช้า เป็นพฤติกรรมพื้นฐานที่ส่งผลต่อจิตใจ และพลังชีวิตของคุณไปตลอดทั้งวัน และช่วยลดระดับคอเลสเตอรอลในเส้นเลือด ลดอัตราเสี่ยงต่อการเกิดโรคหัวใจ ช่วยเผาผลาญพลังงานให้ดีขึ้น ทำให้คุณกินอาหารในมื้ออื่นๆ น้อยลง

2. เปลี่ยนน้ำมันที่ใช้ปรุงอาหาร ยอมจ่ายแพงสักนิดใช้น้ำมันมะกอก หรือน้ำมันดอกทานตะวัน ปรุงอาหารแทนน้ำมันแบบเดิมที่เคยใช้ เพราะเป็นไขมันที่ไม่เป็นโทษต่อร่างกาย และมีกรดไขมันอิ่มตัวที่เป็นประโยชน์ ช่วยลดไขมันในเส้นเลือดได้เป็นอย่างดี

3. ดื่มน้ำให้มากขึ้น คนเราควรดื่มน้ำวันละ 2 ลิตรเป็นอย่างน้อย (ยกเว้นในรายที่ไตทำงานผิดปกติ) เพื่อหล่อเลี้ยงเซลล์ในร่างกาย ฟื้นฟูระบบขับถ่าย รักษาระดับความเข้มข้นของเลือด จะทำให้สดชื่นตลอดวันเลยทีเดียว

4. เสริมสร้างแคลเซียมให้กับกระดูก ด้วยการดื่มนม กินปลาตัวเล็กทั้งตัวทั้งก้าง เต้าหู้ ผลิตภัณฑ์จากถั่วเหลือง ผักใบเขียว เพราะแคลเซียมเป็นสิ่งจำเป็นที่จะเสริมสร้างความแข็งแรงให้กับกล้ามเนื้อและกระดูก ทำให้ระบบประสาททำงานได้เต็มประสิทธิภาพ

5. บอกลาขนมและของกินจุบจิบ ตัดของโปรดประเภทโดนัท คุกกี้ เค้กหน้าครีมหนานุ่ม ออกจากชีวิตบ้าง แล้วหันมากินผลไม้เป็นของว่างแทน วิตามิน และกากใยในผลไม้ มีประโยชน์กว่าไขมัน และน้ำตาลจากขนมหวานเป็นไหนๆ

6. สร้างความคุ้นเคยกับการกินธัญพืชและข้าวกล้อง เมล็ดทานตะวัน ข้าวฟ่างและลูกเดือย รวมทั้งข้าวกล้องที่เคยคิดว่าเป็นอาหารนก ได้มีการศึกษาและค้นคว้าแล้ว พบว่า ช่วยลดความเสี่ยงต่อโรคหัวใจถึง 1 ใน 3 เลยทีเดียว เพราะอุดมไปด้วยไฟเบอร์ ที่ช่วยลดระดับคอเลสเตอรอล และควบคุมน้ำตาลในเลือดให้สมดุล

7. จัดน้ำชาให้ตัวเอง ทั้งชาดำ ชาเขียว ชาอู่ล่ง หรือเอิร์ลเกรย์ ล้วนแล้วแต่มีคุณสมบัติต้านอนุมูลอิสระ การดื่มชาวันละ 1 ถึง 3 แก้ว ช่วยลดอัตราเสี่ยงมะเร็งกระเพาะอาหารถึง 30%

8. กินให้ครบทุกสิ่งที่ธรรมชาติมี คุณต้องพยายามรับประทานผักผลไม้ต่างๆ ให้หลากสี เป็นต้นว่า สีแดงมะเขือเทศ สีม่วงองุ่น สีเขียวบล็อกเคอรี สีส้มแครอท อย่ายึดติดอยู่กับการกินอะไรเพียงอย่างเดียว เพราะพืชต่างสีกัน มีสารอาหารต่างชนิดกัน แถมยังเป็นการเพิ่มสีสันการกินให้กับคุณด้วย

9. เปลี่ยนตัวเองให้เป็นคนรักปลา การกินปลาอย่างน้อยอาทิตย์ละครั้ง ได้ทั้งความฉลาดและแข็งแรง เพราะปลามีกรดไขมันโอเมก้า 3 และโปรตีน ที่ช่วยควบคุมการเต้นของหัวใจให้เป็นปกติ และบำรุงเซลล์สมอง ทั้งยังมีไขมันน้อย อร่อย ย่อยง่าย เหมาะสำหรับคนที่ต้องการหุ่นเพรียวลมเป็นที่สุด

10. กินถั่วให้เป็นนิสัย ทำให้ถั่วเป็นส่วนหนึ่งของอาหารที่คุณต้องกินทุกวัน วันละสัก 2 ช้อน ไม่ว่าจะเป็นของหวานของคาว หรือว่าของว่างก็ทั้งโปรตีน วิตามิน และแร่ธาตุสำคัญๆ หลายชนิด ต่างพากันไปชุมนุมอยู่ในถั่วเหล่านี้ ควรกินถั่วอย่างสม่ำเสมอ แต่ไม่ควรกินครั้งละมากๆ เพราะมีแคลอรี่สูง อาจทำให้อ้วนได้
   ถ้าปฏิบัติให้ได้ครบทุกข้อตามคำแนะนำข้างต้นนี้จนเป็นนิสัย สุขภาพดีๆ จะไปไหนเสีย !!

ที่มา : ผู้จัดการออนไลน์ 7 กรกฎาคม 2551 11:11 น. http://www.manager.co.th/MetroLife/ViewNews.aspx?NewsID=9510000079603